“ขยับกรับเสภา”

2030 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ขยับกรับเสภา”

อาจารย์ศิริ  วิชเวช

            ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(คีตศิลป์)พุทธศักราช 2551 เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2475 จังหวัดกรุงเทพมหานคร เริ่มเรียนดนตรีไทยทั้งทางร้องและทางเครื่องกับบิดา จนสามารถร้องเพลงและบรรเลงเพลงได้เป็นอย่างดี เช่น เพลงตับพรหมมาศ ตับนางลอย และเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลง ทางเครื่องเรียนปี่พาทย์และเครื่องสาย  ต่อมาได้เรียนขับร้องและขับเสภากับครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์  ที่บ้านบางลำพู เรียนขยับกรับ ขับเสภาและการแสดงเสภารำและเสภาตลก  จนทั้งได้รับมอบกรับคู่มือขับคำหวาน(เจิม มาคมาลัย) จากครูเจือ  นาคมาลัย  หลานลุงของหมื่นขับคำหวาน เรียนเครื่องสายเพิ่มเติมจากครูลาภ  มณีลดา  และเรียนทางร้องเพลงทยอยเดี่ยวสายท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) กับครูจันทนา  พิจิตรคุรุการ

            อาจารย์ศิริ  วิชเวช  เริ่มรับราชการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นอาจารย์พิเศษสอนขับร้องและดนตรีไทยให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาขยับกรับขับเสภา ตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาชมรมดนตรีไทยที่โรงพยาบาลสงฆ์ และได้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย (การขยับกรับขับเสภา)เมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นที่ปรึกษาชมรมดนตรีไทยที่โรงพยาบาลสงฆ์ 

            ปัจจุบัน อาจารย์ศิริ  วิชเวช ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่การขับเสภา และเป็นอาจารย์พิเศษ เป็นวิทยากรขับร้องเพลงไทยให้กับสถาบันการศึกษา



ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พูนพิศ อมาตยกุล เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นนักวิชาการสาขาดนตรีวิทยา และเป็นที่ปรึกษาวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

พูนพิศ อมาตยกุล หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล  เจริญเติบโตอยู่ในวัง และเป็นมหาดเล็กของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี เป็นเวลากว่า 30 ปี ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์และเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีไทยมาจากในวัง

เริ่มเรียนดนตรีไทยกับนายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เรียนขับร้องจากครูแช่มช้อย ดุริยพันธ์ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต และครูสุรางค์ ดุริยพันธ์ มีความสามารถในการขับร้องเพลงไทยและประพันธ์บทร้องเพลงไทย เป็นนักจัดรายการเพลงทางวิทยุและโทรทัศน์ที่สนใจการเก็บรักษาผลงานที่ออกอากาศ รวบรวมลงงานและรักษาไว้ในห้องสมุดดนตรีเป็นจำนวนมากกว่า 1.600 รายการ ต้นฉบับรายการวิทยุเหล่านี้ยังรักษาไว้เพื่อการอ้างอิง ในห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และที่หน่วยโสตทัศน์ หอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ยังเป็นนักเขียนสารคดีเกี่ยวกับดนตรี และมีบทความเก็บไว้เพื่ออ้างอิงได้ มากกว่า 900 เรื่อง เป็นนักวิชาการสาขาดนตรีวิทยา (Musicologist) สอนวิชาดนตรีวิทยาควบคู่กับวิชาแพทยศาสตร์ตลอดเวลากว่า 30 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นศาสตราจารย์สาขาดนตรีเป็นคนที่ 3 ของประเทศไทย และเป็นคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีพุทธศักราช 2540 เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม อาทิ สยามสังคีต ลำนำสยาม หนังสือรวมประวัติสตรีนักร้องเพลงไทยและนักระนาดเอกของไทย รายการวิทยุที่ผลิตแล้ว ยังเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดดนตรี อาทิ รายการพบครูดนตรีไทย สยามสังคีต เพลงไทยจากมหาวิทยาลัยมหิดล สังคีตภิรมย์ เพลงไทยสากลจากอดีต ฯลฯ

ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนประจำหลักสูตรปริญญาเอก สาขาดนตรีวิทยา วิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

            ปัจจุบันจะพบว่าศาสตร์ทางด้านนี้ มีผู้รู้และผู้ปฏิบัติได้น้อยมาก  ถ้าครูอาจารย์ทั้งหลายไม่ช่วยกันเผยแพร่ อาจศูนย์หายไปในที่สุด  ทั้งๆที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ล้ำค่ามาก  สมาคมครูดนตรีฯจึงขอเชิญชวนสมาชิกทุกท่านมาร่วมศึกษา และฝึกปฏิบัติขับเสภาและขยับกรับ เพื่อจะได้นำความรู้ทั้งหลายไปจุดประกายให้เยาวชนเกิดความสนใจ ฝึกปฏิบัติขับเสภาและขยับกรับ อันนำไปสู่การรักษา สืบทอดศิลปะด้านนี้ให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต


 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้